วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วันเข้าพรรษา (Buddhist Lent Day)



วันเข้าพรรษาสำหรับในปีนี้ตรงกับ วันอังคารที่ 23 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2556  ตามปฏิทินสุริยคติ

   ซึ่งวันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา




วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือได้ว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย


สาเหตุ : ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมา ยังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย


ความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าพรรษา : ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์  หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน  เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึง วันออกพรรษา  เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป  และเพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรม  เทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา


วันเข้าพรรษา กำหนดเป็น 2 ระยะ คือ ปุริมพรรษา และปัจฉิมพรรษา
          1. ปุริมพรรษา คือ วันเข้าพรรษาต้น ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี
หรือราวเดือนกรกฎาคม และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ราวเดือนตุลาคม

          2. ปัจฉิมพรรษา คือ วันเข้าพรรษาหลัง สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน
ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง หรือราวเดือนกรกฎาคม และจะออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ
เดือน 11 ราวเดือนตุลาคม

       
การศึกษาพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษา :
     ในอดีต การเข้าพรรษามีประโยชน์แก่พระสงฆ์ในด้านการศึกษาพระธรรมวินัย โดยการที่พระสงฆ์จากที่ต่าง ๆ มาอยู่จำพรรษารวมกันในที่ใดที่หนึ่ง พระสงฆ์เหล่านั้นก็จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายองค์ความรู้ตามพระธรรมวินัยให้แก่กัน

      มาในปัจจุบัน การศึกษาพระธรรมวินัยในช่วงเข้าพรรษาในประเทศไทยก็ยังจัดเป็นกิจสำคัญของพระสงฆ์ โดยพระสงฆ์ที่อุปสมบททุกรูป แม้จะอุปสมบทเพียงเพื่อชั่วเข้าพรรษาสามเดือน ก็จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มเติม ปัจจุบันพระธรรมวินัยถูกจัดเป็นหลักสูตรของคณะสงฆ์ ในหลักสูตร พระธรรม จะเรียกว่า ธรรมวิภาค พระวินัย เรียกว่า วินัยมุข รวมเรียกว่า "นักธรรม" ชั้นต่าง ๆ โดยจะมีการสอบไล่ความรู้พระปริยัติธรรมในช่วงออกพรรษา เรียกว่า การสอบธรรมสนามหลวง ในช่วงวันขึ้น 9 - 12 ค่ำ เดือน 11 (จัดสอบนักธรรมชั้นตรีสำหรับพระภิกษุสามเณร) และช่วงวันแรม 2 - 5 ค่ำ เดือน 12 (จัดสอบนักธรรมชั้นโทและเอก สำหรับพระภิกษุสามเณร)

      ปัจจุบันการศึกษาเฉพาะในชั้นนักธรรมตรีสำหรับพระนวกะ หรือพระบวชใหม่ จะจัดสอบในช่วงปลายฤดูเข้าพรรษา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่จะลาสิกขาบทหลังออกพรรษา จะได้ตั้งใจเรียนพระธรรมวินัยเพื่อสอบไล่ให้ได้นักธรรมในชั้นนี้ด้วย

การถือปฏิบัติประเพณีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาในประเทศไทย :
       สำเนาศิลาจารึกหลักที่ ๑ (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช)  การถือปฏิบัติประเพณีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาในประเทศไทย สันนิษฐานว่าเริ่มมีมาแต่แรกที่รับพระพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาในดินแดนประเทศไทย ซึ่งอาจมีปฏิบัติประเพณีนี้มาตั้งแต่สมัยทวาราวดี

แต่มาปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าชาวไทยได้ถือปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศลในเทศกาลเข้าพรรษาในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังปรากฏความในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ด้านที่ 2) ดังนี้

... คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มันโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลายทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อโอยพรรษากรานกฐินเดือนณื่งจี่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัตกฐินเถิงอไรญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียง เรียงกันแต่อไรญิกพู้นเท้าหัวลาน ดมบังคมกลองด้วยเสียงพาทย์เสียงพีณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก ...

       คำอ่านศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ ๒
นอกจากนี้ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ยังได้กล่าวถึงการเทศกาลเข้าพรรษาในสมัยสุโขทัยไว้อีกว่า "เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ทั้งทหารบก และทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ประดับ ธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้วก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถ หอพระธรรมและพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้น ๆ ตลอด ๓ เดือน ดังนี้ทุกพระอาราม" ซึ่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์โดยมี ตามความที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับเค้าโครงของหนังสือนี้ว่าแม้มีเค้าโครงมาจากสมัยสุโขทัย แต่รายละเอียดมีการแต่งเสริมกันขึ้นมาในสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ประเพณีเนื่องด้วยการเข้าพรรษาในประเทศไทย :
         ในประเทศไทยมีประเพณีมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ไทยมาช้านาน ดังปรากฏประเพณีมากมายที่เกี่ยวกับการเข้าจำพรรษา เช่น ประเพณีถวายเทียนพรรษา แก่พระสงฆ์เพื่อจุดบูชาตามอารามและเพื่อถวายให้พระสงฆ์สามเณรนำไปจุดเพื่ออ่านคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในระหว่างเข้าจำพรรษา ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าวัสสิกสาฏก แก่พระสงฆ์ก่อนเข้าพรรษา เพื่อให้พระสงฆ์นำไปใช้สรงน้ำฝนในพรรษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่พุทธศาสนิกชนไทยถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีคือ ประเพณีถวายผ้ากฐิน ที่จัดหลังพระสงฆ์ปวารณาออกพรรษา เพื่อถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ที่จำครบพรรษาจะได้กรานและได้รับอานิสงส์กฐิน เป็นต้น



ประเพณีถวายเทียนพรรษา :
เทียนพรรษาในปัจจุบันใช้ประโยชน์เพียงจุดบูชาพระพุทธปฏิมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมเหมือนในอดีตอีกแล้ว จึงทำให้ในปัจจุบันเริ่มมีชาวพุทธนำอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างไปถวายแก่พระสงฆ์แทนเทียนพรรษาซึ่งจะให้ประโยชน์มากกว่าใช้จุดบูชาเท่านั้น

        มีประเพณีหนึ่งที่เนื่องด้วยวันเข้าพรรษาและจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ

        การถวายเทียนเพื่อจุดตามประทีปเป็นพุทธบูชานั้น มาจากอานิสงส์การถวายเทียนเพื่อจุดเป็นพุทธบูชา ที่ปรากฏความในพระไตรปิฎกและในคัมภีร์อรรถกถา ว่าพระอนุรุทธะเถระ เคยถวายเทียนบูชาทำให้ได้รับอานิสงส์มากมาย รวมถึงได้เป็นผู้มีจักษุทิพย์ (ตาทิพย์) ด้วย ด้วยการพรรณาอานิสงส์ดังกล่าว อาจทำให้ชาวพุทธนิยมจุดประทีปเป็นพุทธบูชามานานแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการทำเทียนพรรษาในประเทศไทยถวายเริ่มมีมาแต่สมัยใด แต่ปรากฏความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่พรรณาการบำเพ็ญกุศลในช่วงเข้าพรรษาว่ามีการถวายเทียนพรรษาด้วย

        ในประเทศไทย การถวายเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นพิธีใหญ่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยรัตนโกสินทร์การถวายเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยจะเรียกว่าพุ่มเทียน มีการพระราชทานถวายพุ่มเทียน  รวมพึงโคมเพื่อจุดบูชาตามอารามต่าง ๆ ทั้งในพระนครและหัวเมือง ซึ่งพิธีนี้ยังคงมีมาจนปัจจุบัน

ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน (ก่อนเข้าพรรษา) :
คำถวายผ้าอาบน้ำฝน
ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่งามและเหมือนนักบวชนอกศาสนา นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย "ผ้าวัสสิกสาฏก" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน



โดยปรากฏสาเหตุความเป็นมาของการถวายผ้าอาบน้ำฝนในพระไตรปิฎกดังนี้
ครั้งหนึ่งสมัยพุทธกาล พระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร นางวิสาขาได้มาฟังธรรม แล้วทูลอาราธนาพระศาสดาและหมู่สงฆ์ไปฉันที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้น เช้าวันนั้น เกิดฝนตกครั้งใหญ่ ตกในทวีปทั้ง 4 พระศาสดาจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายสรงสนานกาย พระสงฆ์ทั้งหลายที่ไม่มีผ้าอาบน้ำฝนจึงออกมาสรงน้ำฝนโดยร่างเปลือยกายอยู่พอดีกับนางวิสาขามหาอุบสิกาสั่งให้นางทาสีไปนิมนต์ภิกษุมารับภัตตาหารที่บ้านของตน เมื่อนางทาสีไปถึงที่วัดเห็นภิกษุเปลื้องผ้าสรงสนานกาย ก็เข้าใจว่า ในอารามมีแต่พวกชีเปลือย (อาชีวกนอกพระพุทธศาสนา) ไม่มีภิกษุอยู่จึงกลับบ้าน ส่วนนางวิสาขานั้นเป็นสตรีที่ฉลาดรู้แจ้งในเหตุการณ์ทั้งปวง เมื่อถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในวันนั้นแล้ว จึงได้โอกาสอันควรทูลขอพร 8 ประการต่อพระศาสดา

พระศาสดาทรงอนุญาตพร 8 ประการคือ :
             ผ้าอาบน้ำฝนมีเพื่อใช้ผลัดกับผ้าสบงปกติ เพื่อปกปิดความเปลือยกายในเวลาสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ (ปกติตามพระวินัย พระสงฆ์จะมีไตรจีวรได้เพียงรูปละ 1 สำรับเท่านั้น)
* ขอถวายผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำ) แก่พระสงฆ์เพื่อปกปิดความเปลือยกาย
* ขอถวายภัตแต่พระอาคันตุกะ เนื่องจากพระอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง
* ขอถวายคมิกภัตแก่พระผู้เตรียมตัวเดินทาง เพื่อจะได้ไม่พลัดจากหมู่เกวียน
* ขอถวายคิลานภัตแก่พระอาพาธ เพื่อไม่ให้อาการอาพาธกำเริบ
* ขอถวายภัตแก่พระผู้พยาบาลพระอาพาธ เพื่อให้ท่านนำคิลานภัตไปถวายพระอาพาธได้ตามเวลา และพระผู้พยาบาลจะได้ไม่อดอาหาร
* ขอถวายคิลานเภสัชแก่พระอาพาธ เพื่อให้อาการอาพาธทุเลาลง
* ขอถวายยาคูเป็นประจำแก่สงฆ์
* ขอถวายผ้าอุทกสาฎก (ผ้าอาบน้ำ) แก่ภิกษุณีสงฆ์เพื่อปกปิดความไม่งามและไม่ให้ถูกเย้ยยัน

โดยนางวิสาขาได้ให้เหตุผลการถวายผ้าอาบน้ำฝนว่า เพื่อให้ใช้ปกปิดความเปลือยกายในเวลาสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ที่ดูไม่งามดังกล่าว ดังนั้น นางวิสาขาจึงเป็นอุบาสิกาคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถวายผ้าอาบน้ำฝน (วัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์  ผ้าอาบน้ำฝน จึงถือเป็นบริขารพิเศษที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระสงฆ์ได้ใช้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัยปิฎก มิเช่นนั้นพระสงฆ์จะต้องอาบัตินิคสัคคิยปาจิตตีย์ คือ ต้องทำผ้ากว้างยาวให้ถูกขนาด  ตามพระวินัย คือ ยาว 6 คืบพระสุคต กว้าง 2 คืบครึ่ง ตามมาตราปัจจุบันคือ ยาว 4 ศอก 3 กระเบียด กว้าง 1 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว 1 กระเบียดเศษ ถ้าหากมีขนาดใหญ่กว่านี้ พระสงฆ์ต้องตัดให้ได้ขนาด จึงจะปลงอาบัติได้

นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางกรอบเวลาในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนไว้ด้วย หากพระสงฆ์แสวงหาผ้าอาบน้ำฝนมาได้ภายนอกกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องอาบัติ โดยพระพุทธเจ้ายังได้ทรงวางกรอบเวลาในการแสวง

หาผ้าอาบน้ำฝนไว้ว่า หากพระสงฆ์แสวงหาผ้าอาบน้ำฝนมาใช้ได้ภายนอกกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ กล่าวคือ ทรงวางกรอบเวลาหรือเขตกาลไว้ 3 เขตกาล คือ
* เขตกาลที่จะแสวงหา ช่วงปลายฤดูร้อน ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 7 ถึงวันเพ็ญเดือน 8 รวมเวลา 1 เดือน
* เขตกาลที่จะทำนุ่งห่ม ช่วงกึ่งเดือนปลายฤดูร้อน ตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันเพ็ญเดือน 8 รวมเวลาประมาณ 15 วัน
* เขตกาลที่จะอธิษฐานใช้สอย ช่วงเข้าพรรษา ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันเพ็ญเดือน 12 รวมเวลา 4 เดือน
ด้วยกรอบพระพุทธานุญาตและกรอบเวลาตามพระวินัยดังกล่าว เมื่อถึงเวลาที่พระสงฆ์ต้องแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน พุทธศานิกชนจึงถือโอกาสบำเพ็ญกุศลด้วยการจัดหาผ้าอาบน้ำฝนมาถวายแก่พระสงฆ์ จนเป็นประเพณีสำคัญเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษามาจนปัจจุบัน

ประโยชน์ในการเข้าพรรษาของพระภิกษุ :
          1. เป็นช่วงที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา หากภิกษุสงฆ์เดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ อาจไปเหยียบต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้ได้รับความเสียหายล้มตาย
          2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน พระภิกษุสงฆ์จะได้หยุดพักผ่อน
          3. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนประชาชน
เมื่อถึงวันออกพรรษา
          4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
          5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตรหล่อเทียนเข้าพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา



ขอบคุณบทความจาก : th.wikipedia.org

วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วันอาสาฬหบูชา (Asalha Bucha Day)



วันอาสาฬหบูชา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันพระธรรม" และ "วันพระสงฆ์" เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระธรรมจักร เป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ และเป็นวันที่บังเกิดมีพระสงฆ์ครบเป็นองค์พระรัตนตรัยครั้งแรกในโลก


วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา; อังกฤษ: Asalha Puja) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ  อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุ อุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย

เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล



ความสำคัญของวันอาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง แก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ คือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น "สัมมาสัมพุทธะ" คือเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ซึ่งแตกต่างจาก "พระปัจเจกพุทธเจ้า" ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระธรรม"  วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมสำเร็จพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลคนแรก และได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสมบทเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนา และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลกดังกล่าว พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระสงฆ์"


ดังนั้น  วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว ซึ่งควรพิจารณาเหตุผลโดยสรุปจากประกาศสำนักสังฆนายกเรื่องกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา ที่ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชา  ไว้โดยย่อ ดังนี้

**  เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
**  เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร์ ประกาศสัจจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ
**  เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น
**  เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

---ประกาศสำนักสังฆนายก เรื่อง กำหนดพิธีอาสาฬหบูชา  ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2501---



เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชาในพระพุทธประวัติ

หลังจากได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแล้ว พระองค์ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณสัตตมหาสถานโดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาถึง 7 สัปดาห์  และในขณะทรงนั่งประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 5 หลังการตรัสรู้ ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้ทรงมานั่งคำนึงว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง คนจะรู้และเข้าใจตามได้ยาก ตามความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ว่า

"... บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้ เพราะธรรมที่เราตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วไป ที่ถูกราคะ โทสะครอบงำอยู่จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย, คนที่ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองมืด (คืออวิชชา) หุ้มไว้มิดทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมะของเราที่เป็นสิ่งทวนกระแส (อวิชชา) ที่มีสภาพลึกซึ้ง ละเอียดเช่นนี้ได้เลย..."




กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น

โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันอาสาฬหบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันอาสาฬหบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้

** บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
** บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
** บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
** บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
** บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
** บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
** บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
** บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
** บทสวดพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรบาลี (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:เอวัมเม สุตัง เอกัง ฯลฯ) (ฟัง)
** บทสวดบูชาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:ยะมัมหะ โข มะยัง ฯลฯ)

        จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี


ขอบคุณบทความจาก : วิกิพีเดีย

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วันมาฆบูชา (Makha Bucha Day)



              วันมาฆบูชา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" เพราะเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงประทานหลักโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระธรรม แก่พระอรหันตสาวกผู้เป็นเอหิภิกขุทั้ง 1,250 องค์ ที่มาประชุมพร้อมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายในวันมาฆปุรณมี

วันมาฆบูชา (บาลีมาฆปูชาอักษรโรมัน: Magha Puja) เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดียหรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าในปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4) หรือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 

ความสำคัญ "วันมาฆบูชา" ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ
1.      พระสงฆ์ 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย
2.      พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
3.      พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6
อภิญญา แปลว่า ความรู้ยิ่ง หมายถึงปัญญาความรู้ที่สูงเหนือกว่าปกติ เป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิตเจริญปัญญาหรือบำเพ็ญกรรมฐาน
อภิญญาในคำวัดหมายถึงคุณสมบัติพิเศษของพระอริยบุคคลซึ่งเป็นเหตุให้มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ มี 6 อย่าง คือ
1.      อิทธิวิธิ               แสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้
2.      ทิพพโสต             มีหูทิพย์
3.      เจโตปริยญาณ      กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
4.      ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
5.      ทิพพจักขุ            มีตาทิพย์
6.      อาสวักขยญาณ     รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป
อภิญญา 5 ข้อแรกเป็นของสาธารณะ (โลกียญาณ) ข้อ 6 มีเฉพาะในพระอริยบุคคล
ถ้าพบผู้แสดงฤทธิ์ได้ อย่าพึ่งหมายว่าผู้นั้นจะเป็นอริยบุคคล

4.      วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี (วันเพ็ญเดือนมาฆะ - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)  ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

     ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จตุ+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) โดยประชุมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)




               ในกลุ่มโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์  โดยพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นต่างไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ อันเป็นที่ประทับ โดยมีคณะทั้ง 4 คือ คณะศิษย์ของชฎิล 3 พี่น้อง คือ คณะพระอุรุเวลกัสสปะ (มีศิษย์ 500 องค์) คณะพระนทีกัสสปะ (มีศิษย์ 300 องค์) คณะพระคยากัสสปะ (มีศิษย์ 200 องค์) และคณะของพระอัครสาวกคือคณะพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ (มีศิษย์ 250 องค์) รวมนับจำนวนได้ 1,250 รูป (จำนวนนี้ไม่ได้นับรวมชฎิล 3 พี่น้อง และพระอัครสาวกทั้งสอง)

              และมีผู้เข้าใจผิดว่าเหตุที่พระสาวกทั้ง 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายนั้น เพราะวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์เป็นวันพิธีมหาศิวาราตรีเพื่อบูชาพระศิวะ พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน จึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์  มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน  แต่ความดิดนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะพระศิวะเป็นเทพที่ชาวฮินดูเริ่มบูชากันในยุคหลังพุทธกาล คือตั้งแต่ พ.ศ. 800 เป็นต้นมา



ทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ : พระพุทธเจ้าเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้
*       พระพุทธพจน์คาถาแรก ทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดังพระบาลีว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา"
*       พระพุทธพจน์คาถาที่สอง  ทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง ส่วนนี้เองของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น
*       พระพุทธพจน์คาถาที่สาม ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา 6 ประการ คือ
1.      การไม่กล่าวร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่กล่าวร้ายโจมตีดูถูกความเชื่อผู้อื่น)
2.      การไม่ทำร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่ใช้กำลังบังคับข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ)
3.      ความสำรวมในปาติโมกข์ (รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)
4.      ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร (เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณพอเพียง)
5.      ที่นั่งนอนอันสงัด (สันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)
6.      ความเพียรในอธิจิต (พัฒนาจิตใจเสมอมิใช่ว่าเอาแต่สอนแต่ตนเองไม่กระทำตามที่สอน)

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันมาฆบูชา 
เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น  โดยการประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร

ปัจจุบันวันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชน ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์  ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล

พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมนับถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญ  เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน ในการละเว้นความชั่ว บำเพ็ญความดี ทำใจให้ผ่องใส ตามแนวทางพระบรมพุทโธวาท โดยมีแนวปฏิบัติในการประกอบพิธีในวันมาฆบูชาคล้ายกับการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา คือมีการตั้งใจบำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตรฟังพระธรรมเทศนาและเจริญจิตตภาวนาในวันนี้ เมื่อตกกลางคืนก็มีการเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชาตามอารามต่าง ๆ และอาจมีการบำเพ็ญปกิณณกะกุศลต่าง ๆ ตลอดคืนตามแต่จะเห็นสมควร

วันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น

โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันมาฆบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้
บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย : อิติปิโส ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย : องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย : สวากขาโต ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย : ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย : สุปฏิปันโน ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย : สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย : อัชชายัง ฯลฯ



บทบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา
ใช้ในวันมาฆบูชา
บทสวด
          อัชชายัง มาฆะปุณณะมี สัมปัตตา มาฆะนักขัตเตนะ ปุณณะจันโท ยุตโต ยัตถะ ตะถาคะโต อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ จาตุรังคิเก สาวะกะสันนิปาเต
โอวาทะปาฏิโมกขัง อุททิสิ ตะทาหิ อัฑฒะเตระสานิ สัพเพสังเยวะ ขีณาสะวานัง สัพเพ เต เอหิภิกขุกา สัพเพปิ เต อะนามันติตาวะ ภะคะวะโต สันติกัง อาคะตา เวฬุวะเน กะลันทะกะนิวาเป มาหะปุณณะมิยัง วัฑฒะมานะกัจฉายายะ ตัสมิญจะ สันนิปาเต ภะคะวาวิสุทธุโปสะถัง อะกาสิ อะยัง อัมหากัง ภะคะวะโต เอโกเยวะ สาวะกะสันนิปาโต อะโหสิ จาตุรังคิโก อัพฒะเตระสานิ ภิกขุสะตานิ สัพเพสังเยวะ ขีณาสะวานัง มะยันทานิ อิมัง มาฆะปุณณะมี นักขัตตะสะมะยัง ตักกาละสะทิสัง สัมปัตตา จิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะระมานา อิมัสมิง ตัสสะ ภะคะวะโต สักขิภูเต เจติเย อิเมหิ ทีปะธูปะปุปผาทิสักกาเรหิ ตัง ภะคะวันตัง ตานิ จะ อัฑฒะเตระสานิ
ภิกขุสะตานิ อะภิปูชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สะสาวะกะสังโฆ สุจิระปะรินิพพุโต คุเณหิ ธะระมาโน อิเม ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ 
คำแปล 
          วันนี้มาประจวบวันมาฆปุรณมี เพ็ญเดือน ๓ พระจันทร์เพ็ญประกอบด้วยฤกษ์มาฆะ ตรงกับวันที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ขึ้น ในที่ประชุมสาวกสงฆ์พร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ
          ครั้งนั้น พระภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ไม่มีผู้ใดเรียกมาประชุมยังสำนักพระผู้มีพระภาค ณ เวฬุวนาราม เวลาตะวันบ่ายในวันมาฆปุรณมีแลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ขึ้น ณ ที่ประชุมแห่งนั้น การประชุมสาวกสงฆ์ พร้อมด้วยองค์ ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเราทั้งหลายนี้ ได้มีครั้งเดียวเท่านั้น พระภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์ล้วนแต่พระขีณาสพ
          บัดนี้เราทั้งหลายมาประจวบมาฆปุรณมีนักขัตต์สมัยนี้ ซึ่งคล้ายกับวันจาตุรงคสันนิบาตนั้นแล้ว มาระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์นั้น ด้วยสักการะทั้งหลายมีเทียนธูปแลดอกไม้เป็นต้นเหล่านี้ ในเจดียสถานนี้ ซึ่งเป็นพยานของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น 
          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยสาวกสงฆ์ แม้ปรินิพพานนานมาแล้วด้วยดี ยังเหลืออยู่แต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย จงทรงรับสักการะบรรณาการคนยากเหล่านี้ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญ.
คาถาสวดในวันมาฆบูชา
มาฏะนักขัตตะยุตตายะ
ปุณณายะปุณณะมายัง โย
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
ภะคะวา โคตะโมหะโย
สุทธานันตะทะยาญาโณ
สัตถา โลเก อะนุตตโร
วิหะรันโต ราชะคะเห
มาฆะทานัง ศีริพภะเย
วิหาเร เวฬุวะนัมหิ
กะลันทะกะนิวาปิเย
สังฆัสสะ สันนิปาตัมหิ
อุตตะเม จะตุรังคิเก
อัฑฒะเตระสะสะหัสเสหิ
ภิกขูหิ ปริวาริโต
ตีหิ คาถาหิ สังขิปปัง
สัพพัง พุทธานะสาสะนัง
สะโมสาเรหิ โอวาทัง
ปาฏิโมกขัง อนุตตะรัง
สะเมวัมภูตะสัมพุทธัง
สักขีณาสะวะสาวะกัง
จิระการะมะตี ตัมปิ
ปสาเทนะ อนุตตะรัง
อยัมปิ ปะริสา สัพพา
ปสันนา ธัมมะคามินี
สัมปัตตาตาทิสักการัง
สุนักขัตตัง สุมังคะลัง
ทีปะฑูปาทิสักกาเร
อะภิสัชชิ ยะถาผะลัง
เตหิ ปูเชตะเวหัตถะ
ตุฏฐา อิธะ สะมาคะตา
อภิวันทะติ ปุเชติ
ภะคะวันตัง สะสาวะกัง
กาเลนะ สัมมุขีภูตัง
อตีตารัมมะนัตตะนา
โอสาเรนตัง ปาฏิโมกขัง
วิสุทธักขะมุโปสะเถ
อิโตชะเน สุปุญเญนะ
โสตถี โหนตุ สะทาปิ โน
สาสะนัง สัตถุ อัมหากัง
จีรัง ติฏฐตุ ตาทิโน....ติ
บทขัดโอวาทปาฏิโมกข์
สัตตันนัง ภะคะวันตานัง
สัมพุทธานัง มะเหสินัง
โอวาทะปาฏิโมกขัสสะ
อุทเทสัตเตนะ ทัสสิตา
มะหาปะทานะสุตตันเต
ติสโส คาถาติ โน สุตัง
ตีหิ สิกขาหิ สังขิตตัง 
ยาสุ ทุทธานะสาสะนัง
ตาสัมปะกาสะกัง ธัมมะ- 
ปะริยายัง ภะณามะเส.
โอวาทะปาฏิโมกขาทิปาโฐ
          อุททิฏฐัง โข เตนะ ภะคะวะตา ชานะตา ปัสสะตา อะระหะตา สัมมาสัมพุทเธนะ
โอวาทะปาฏิโมกขัง ตีหิ คาถาหิ
 
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
          สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
กุสะลัสสุปะสัมปะทา
          สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
เอตัง พุทธานะ สาสะนัง
          อะนูปะวาโท อนูปะฆาโต
ปาฏิโมกเข จะ สังวะโร
          มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
          อะธิจิตเต จะ อาโยโค
เอตัง พุทธานะ สานะนันติ
          อะเนกะปะริยาเยนะ โข ปะนะ เตนะ ภะคะวะตา ชานะตา ปัสสะตา อะระหะตา สัมมาสัมพุทเธนะ สีลัง สัมมะทักขาตัง สะมาธิ สัมมะทักขาโต ปัญญา สัมมะทักขาตา
 
          กถัญจะ สีลัง สัมมะทักขาตัง ภะคะวะตา. เหฏฐิเมนะปิ ปะริยาเยนะ สีลัง สัมมะทักขาตัง ภะคะวะตา. อุปะริเมนะปิ ปริยาเยนะ สีลัง สัมมะทักขาตัง ภะคะวะตา.
กะถัญจะ เหฏฐิเมนะ ปริยาเยนะ สีลัง สัมมะทักขาตัง ภะคะวะตา อิธะ อริยะสาวะโก ปาณาติปาตา ปะฏิวิระโต โหติ อทินนาทานา ปฏิวิระโต โหติ กาเมสุ มิจฉาจารา ปะฏิวิระโต โหติ มุสาวาทา ปะฏิวิระโต โหติ สาราเมระยะมัชชัปปะมาทัฏฐานา ปะฏิวิระโต โหตีติ. เอวัง โข เหฏฐิเมนะ ปะริยาเยนะ สีลัง สัมมะทักขาตัง ภะคะวะตา. กะถัญจะ อุปะริเมนะ ปะริยาเยนะ สีลัง สัมมะทักขาตัง ภะคะวะตา อิธะ ภุกขุ สีลวา โหติ ปาฏิโมกขะสังวะระสังวุโต วิหะระติ
อาจาระโคจะระสัมปันโน อะณุมัตเตสุ วัชเชสุ ภะยะหัสสาวี สะมาทายะ สิกขะติ สิกขาปะเทสูติ เอวัง โข อุปะริเมนะ ปริยาเยนะ สีลัง สัมมะทักขาตัง ภะคะวะตา.
 
          กถัญจะ สะมาธิ สัมมะทักขาโต ภะคะวะตา. เหฏฐิเมนะปิ ปริยาเยนะ สะมาธิ
สัมมะทักขาโต ภะคะวะตา. อุปะริเมนะปิ ปริยาเยนะ สะมาธิ สัมมะทักขาโต ภะคะวะตา.  กถัญจะ เหฏฐิเมนะ ปริยาเยนะ สะมาธิ สัมมะทักขาโต ภะคะวะตา. อิธะ อริยะสาวะโก โวสสัคคารัมมะณัง กะริตวา ละภะติ สะมาธิง ละภะติ จิตตัสเสกัคคะ ตันติ. เอวัง โข เหฏฐิเมนะ ปริยาเยนะ สะมาธิ สัมมะทักขาโต ภะคะวะตา. กะถัญจะ อุปะริเมนะ ปะริยาเยนะ สะมาธิ สัมมะทักขาโต ภะคะวะตา. อิธะ ภิกขุ วิวิจเจวะ กาเมหิ วิวิจจะ อะกุสะเลหิ ธัมเมหิ สะวิตักกัง สะวิจารัง วิเวกะชัมปีติสุขัง ปะฐะมัง ฌานัง อุปะสัมปัชชะ วิหะระติ วิตักกะวิจารานัง วูปะสะมา อัชฌัตตัง สัมปะสาทะนัง เจตะโส เอโกทิภาวัง อะวิตักกัง อะวิจารัง สะมาธิชัมปีติสุขัง ทุติยัง ฌานัง อุปะสัมปัชชะ วิหะระติ ปีติยา จะ วิราคา อุเปกขะโก จะ วิหะระติ สะโต จะ สัมปะชาโน สุขัญจะ กาเยนะ ปะฏิสังเวเทติ ยันตัง อะริยา อาจิกขันติ อุเปกขะโก สะติมา สุขะวิหารีติ ตะติยัง ฌานัง อุปะสัมปัชชะ วิหะระติ, สุขัสสะ จะ ปะหานา ทุกขัสสะ จะ ปะหานา ปุพเพ วะ โสมะนัสสะโทมะนัสสานัง อัตถังคะมา อะทุกขะมะสุขัง อุเปกขา สะติปาริสุทธิง จะตุตถัง ฌานัง อุปะสัมปัชชะ วิหะระตีติ, เอวัง โข อุปะริเมนะ ปริยาเยนะ สะมาธิ สัมมะทักขาโต ภะคะวะตา.
 
          กถัญจะ ปัญญา สัมมะทักขาตา ภะคะวะตา, เหฏฐิเมนะปิ ปะริยาเยนะ ปัญญา สัมมะทักขาตา ภะคะวะตา, อุปะริเมนะปิ ปริยาเยนะ ปัญญา สัมมะทักขาตา ภะคะวะตา. กถัญจะ เหฏฐิเมนะ ปะริยาเยนะ ปัญญา สัมมะทักขาตา ภะคะวะตา. อิธะ อะริยะสาวะโก ปัญญะวา โหติ อุทะยัตถะคามินิยา ปัญญายะ สะมันนาคะโต อริยายะ นิพเพธิกายะ สัมมา ทุกขักขะยะคามินิยาติ. เอวัง โข เหฏฐิเมนะ ปริยาเยนะ ปัญญา สัมมะทักขาตา ภะคะวะตา. กะถัญจะ อุปะริเมนะ ปะริยาเยนะ ปัญญา สัมมะทักขาตา ภะคะวะตา. อิธะ ภิกขุ อิทัง ทุกขันติ ยะถาภูตัง ปะขานาติ  อะยัง ทุกขะสะมุทะโยติ ยะถาภูตัง ปะชานาติ. อะยัง ทุกขะนิโรโธติ ยะถาภูตัง ปะชานาติ. อะยัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทาติ ยะถาภูตัง ปะชานาติ. เอวัง โข อุปะริเมนะ ปะริยาเยนะ ปัญญา สัมมะทักขาตา ภะคะวะตา.
 
          สีละปะริภาวิโต สะมาธิ มะหัปผะโล โหติ มะหานิสังโส สะมาธิปะริภาวิตา ปัญญา
มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา ปัญญาปะริภาวิตัง จิตตัง สัมมะเทวะ อาสะเวหิ วิมุจจติ. เสยยะทีทัง. กามาสะวา ภะวาสะวา อะวิชชาสะวา ภาสิตา โข ปะนะ ภะคะวะตา ปะรินิพพานะสะมะเย อะยัง ปัจฉิมะวาจา หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถาติ. ภาสิตตัญจิทัง ภะคะวะตา เสยยะถาปิ ภิกขะเว ยานิ กานิจิ ชังคะลานัง ปาณานัง ปะทะชาตานิ สัพพานิ ตานิ หัตถิปะเท สะโมธานัง คัจฉันติ หุตถิปะทัง เตสัง อัคคะมักขายะติ ยะทิทัง มหันตัตเตนะ. เอวะเมวะ โข ภิกขะเว เย เกจิ กุสะลา ธัมมา สัพเพ เต อัปปะมาทะมูละกา อัปปะมาทะสะ โมสะระณา อัปปะมาโท เตสัง อัคคะมักขายะตีติ. ตัสมาติหัมเหหื สิกขิตตัพพัง ติพพาเปกขา ภวิสสามะ อะธิสีละสิกขาสะมาทาเน อะธิจิตตะสิกขาสะมาทาเน อะธิปัญญาสักขาสะมาทาเน อัปปะมาเทนะ สัมปาเทสสามาติ. เอวัญหิ โน สิกขิตัพพัง.

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดกิจกรรมในวันมาฆบูชา
          พุทธศาสนิกชนจะมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรมต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความตระหนักต่อความสำคัญของพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชาวพุทธ และยังเป็นการช่วยธำรงพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย