วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

ประวัติอุปปาตะสันติ (มหาสันติงหลวง) Maha Santing Luang


อุปปาตะสันติ (มหาสันติงหลวง)
อุปปาตะสันติ  : ทางเมืองเหนือเรียกว่า  "มหาสันติงหลวง"   เป็นบทสวดเพื่อสงบเคราะห์กรรม สวดเพื่อสงบอันตราย  สวดเพื่อสงบเหตุร้าย และสวดเพื่อสงบสิ่งที่กระทบกระเทือน

เนื้อความในคัมภีร์อุปปาตะสันติ สรุปได้ว่า
   *  เป็นธรรมที่กระทำความสงบอันยิ่งใหญ่
   *  เป็นธรรมเครื่องสงบเหตุร้ายทั้งปวง
   *  เป็นธรรมเครื่องป้องกันอมนุษย์ และยักษ์
   *  เป็นธรรมเครื่องพ้นจากความตายก่อนกำหนดเวลา
   *  เป็นธรรมเครื่องย่ำยีกำลังของข้าศึก
   *  เป็นธรรมเครื่องจำเริญชัยชนะแด่พระราชา
   *  เป็นธรรมเครื่องนำสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาทั้งปวงออกไป...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
คัมภีร์อุปปาตะสันติภาษาบาลีนี้ มีคำชี้แจงเพื่อทราบประวัติโดยย่อดังต่อไปนี้
          ๑. อุปปาตะสันติ   แยกเป็น ๒ คำ คือ อุปปาตะ คำ ๑ และ สันติ คำ ๑ อุปปาตะ แปลว่า
เคราะห์กรรม, เหตุร้าย, อันตราย และแปลว่าสิ่งกระทบกระเทือน อุปปาตะสันติ แปลว่า
บทสวดสงบเคราะห์กรรม แปลว่าบทสวดสงบอันตราย แปลว่าบทสวดสงบเหตุร้าย
และแปลว่าบทสวดสงบสิ่งกระทบกระเทือน 

          ๒. คัมภีร์อุปปาตะสันติ เป็นวรรณคดีบาลีล้านนาไทย โดย พระมหามังคละสีละวังสะ  พระมหาเถระนักปราชญ์แห่ง  "นพบุรีศรีนครพิงค์-เชียงใหม่"  เป็นคาถาล้วนจำนวน ๒๗๑ คาถา  จัดเข้าในหนังสือประเภท เชียงใหม่คันถะ”   คือ คัมภีร์เชียงใหม่มีอายุประมาณ ๖๐๐ ปีเศษแล้ว  มีคำเล่าว่า สมัยแต่งอุปปาตะสันตินั้น ที่เมืองเชียงใหม่นั้นมีโจรผู้ร้ายและคนอัทธพาลชุกชุมมากผิดปกติมีเหตุร้ายและสิ่งกระทบกระเทือนอยู่เสมอ พระสีลวังสะ จึงให้พระสงฆ์ สามเณรและประชาชนพากันสวดและฟังอุปปาตะสันติ เพื่อกลับร้ายให้กลายเป็นดี มีผู้เลื่อมใสคัมภีร์นี้มาก  และถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์มาก
          ต่อมาชาวพม่ามีความเลื่อมใสและนำคัมภีร์นี้เข้าไปในประเทศพม่า เข้าใจว่านำเข้าไปที่เมืองอังวะก่อนแล้วแพร่หลายไปทั่วประเทศพม่าสมัย ๕๐๐ ปีที่ล่วงแล้ว  ชาวพม่าทั้งพระสงฆ์และประชาชนถือว่าคัมมภีร์อุปปาตะสันติ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก นิยมท่อง  นิยมสวดและนิยมฟังอย่างกว้างขวาง มีคำเล่ากันว่า สมัยหนึ่งพวกจีนมาตีเมืองอังวะ ประเทศพม่า ชาวพม่าทั้งพระสงฆ์ ข้าราชการ และประชาชนพากันสวดคัมภีร์อุปปาตะสันติ พวกจีนได้ฟังอุปปาตะสันติ  เสียงกึกก้องของอุปปาตะสันติ ก็มีความกลัวแล้วพากันหนีกลับไป

          ๓. บุคคลและสภาวะที่อ้างถึงในคัมภีร์อุปปาตะสันติ มี ๑๓ ประเภทคือ 
                  ๓.๑ พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตถึงปัจจุบัน (เน้นที่ ๒๘ พระองค์) 
                  ๓.๒ พระปัจเจกพุทธเจ้า 
                  ๓.๓ พระพุทธเจ้าในอนาคต ๑ พระองค์ คือ พระเมตไตรย 

                  ๓.๔ โลกุตตรธรรม ๙ และพระปริยัติธรรม ๑ 
                  ๓.๕ พระสังฆรัตนะ 
                  ๓.๖ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ๑๐๘ รูป 

                  ๓.๗ พระเถรีชั้นผู้ใหญ่ ๑๓ รูป 
                  ๓.๘ พญานาค 
                  ๓.๙ เปรตบางพวก
                  ๓.๑๐ อสูร 

                  ๓.๑๑ เทวดา 
                  ๓.๑๒ พรหม 
                  ๓.๑๓ บุคคลประเภทรวม เช่น เทวดา ยักษ์ ปีศาจ คือผีที่ทำสิ่งใดๆ อย่างโลดโผน และวิชชาธรหรือพิทยาธร (สันสกฤตเรียกวิทยาธร)  ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเรียกพวก เซอเร่อ คือ พ่อมด แม่มด หรือผู้วิเศษ  พวกวิชชาธรเป็นพวกรอบรู้เรื่องเครื่องรางและเสน่ห์ต่างๆ 

                   เรื่องราวเย็นอกเย็นใจที่ผู้คนส่วนใหญ่มุ่งหวังและเสาะแสวงหา มีกล่าวถึงไว้ในคัมภีร์อุปปาตะสันติ   ที่สำคัญมี  ๓ ประการคือ
                ก. สันติหรือมหาสันติ ความสงบ ความราบรื่น ความเยือกเย็น ความไม่มีคลื่น 
                ข. โสตถิ ความสวัสดี ความปลอดภัย ความเป็นอยู่เรียบร้อย หรือนิรภัย
                ค. อาโรคยะ ความไม่มีสิ่งเป็นเชื้อโรค ความไม่มีโรค หรือความมีสุขภาพสมบูรณ์

คัมภีร์อุปปาตะสันติ มีข้อความขอความช่วยเหลือ ขอให้พระรัตนตรัยและบุคคล พร้อมทั้งสิ่งทรงอิทธิพลในจักรวาลรวม ๑๓ ประเภทดังกล่าวมาแล้ว  ช่วยสร้างสันติหรือมหาสันติ ช่วยสร้างโสตถิและอาโรคยะ ช่วยปรุงแต่งสันติและอาโรคยะ  ขอให้ช่วยรวมสันติ รวมโสตถิและรวมอาโรคยะ และขอให้ช่วยเป็นตู้นิรภัยคุ้มครองและกำจัดเหตุร้ายอันตรายหรือสิ่งกระทบกระเทือนต่างๆ อย่าให้เกิดมีในตน ในครอบครัว  ในหมู่คณะ หรือในวงงานของตน และในวงงานของคนอื่นทั่วไป


          ๔. อานิสงฆ์การสวดและการฟังอุปปาตะสันติ มีคุณประโยชน์มากมายตามที่กล่าวไว้ ในท้ายคัมภีร์อุปปาตะสันติ มีดังนี้  
                 ๔.๑ ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติ ย่อมชนะเหตุร้ายทั้งปวงได้ และมีวุฒิภาวะคือ ความเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ
                 ๔.๒ ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติ ย่อมได้ประโยชน์ที่ตนต้องการ คือ ผู้ประสงค์ความปลอดภัยย่อมได้ความปลอดภัย คนอยากสบายย่อมได้ความสุข คนอยากมีอายุยืน ย่อมได้อายุยืน คนอยากมีลูก ย่อมได้ลูกสมประสงค์
                 ๔.๓ ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติ ย่อมไม่มีโรคลมเป็นต้น มาเบียดเบียน ไม่มีอกาละมรณะคือตายก่อนอายุขัย ทุนนิมิตร คือ ลางร้ายต่างๆ มลายหายไป
                 ๔.๔ ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติ เมื่อเข้าสนามรบย่อมชนะข้าศึก ทั้งปวงและแคล้วคลาดจากอาวุธทั้งปวง


            ๕. เดชของอุปปาตะสันติ  การสวดอุปปาตะสันติเป็นประจำ ย่อมมีเดช ดังนี้ 
                 ๕.๑ อุปปาตะ คือเหตุร้ายหรือสิ่งกระทบกระเทือน  อันเกิดจากแผ่นดินไหวเป็นต้น ย่อมพินาศไป (ปะถะพะยาปาทิสัญชาตา)
                 ๕.๒ อุปปาตะ คือ คือเหตุร้ายหรือสิ่งกระทบกระเทือน  อันเกิดจากลูกไฟที่ตกจากอากาศหรือสะเก็ดดาว ย่อมพินาศไป (อุปปาตะจันตะลิกขะชา)
                 ๕.๓ อุปปาตะ คือ คือเหตุร้ายหรือสิ่งกระทบกระเทือน  อันเกิดจากการเิกิดจันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา เป็นต้น ย่อมพินาศไป (อินทาทิชะนิตุปปาตา)


           ๖. คัมภีร์อุปปาตะสันติเป็นคัมภีร์ไทย แต่ต้นฉบับได้จากเมืองไทยไปอยู่เมืองพม่าเสียนาน จนแทบกล่าวได้ว่า คนไทยสมัยหลังๆ ไม่มีใครรู้จัก ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อของคัมภีร์นี้  
               คัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ของไทย แต่ได้รับความนิยมสาธยายในประเทศพม่า จัดพิมพ์ครั้งแรกโดย โรงพิมพ์ภอนวาจา ย่างกุ้ง พ..๒๔๘๘ มีทั้งฉบับบาลีและฉบับนิสสัย (ฉบับแปลคำต่อคำ) ของพระชัมพุทีปธชะ ซึ่งแปลจบในวันพุธ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ พ.๒๓๗๙ ต่อมากระทรวงมหาดไทยและการศาสนาของพม่าได้จัดพิมพ์บทสวดมนต์ฉบับหลวงที่เรียกว่า สิริมังคลาปริตตอ (พระปริตรเพื่อสิริมงคล) ใน พ..๒๕๐๐ นับว่าเป็นเวลานานที่คนไทยไม่รู้จักคัมภีร์นี้ จนกระทั่งพระเทพเมธาจารย์ (เช้า ฐิตปญฺโญ ป..) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ (ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็น พระธรรมคุณาภรณ์) ได้ชำระและจัดพิมพ์เป็นฉบับบาลีอักษรไทยในเดือนสิงหาคม พ..๒๕๐๕ โดยได้รับต้นฉบับบาลีอักษรพม่าจากพระธัมมานันท-มหาเถระ ธรรมาจริยะ เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอในปัจจุบัน ที่นำต้นฉบับมาจากประเทศพม่าเมื่อ พ..๒๕๐๓ ท่านเจ้าคุณเช้ากล่าวถึงท่านผู้แต่งคัมภีร์นี้ไว้ใน ‘‘คำชี้แจงเรื่องคัมภีร์อุปปาตสันติ’’ ว่าคือ พระสีลวังสมหาเถระ แต่งที่เชียงใหม่สมัยกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ..๑๘๙๓ ถึง พ..๒๐๑๐ ส่วนในประวัติคัมภีร์อุปปาตสันติ ฉบับวัดโพธารามและฉบับอาจารย์สุรีย์ กล่าวว่า คัมภีร์นี้แต่งโดยพระมหามังคละสีลวังสะ พระเถระนักปราชญ์ของชาวเชียงใหม่รูปหนึ่ง ในสมัยของพระเจ้าสิริธรรมจักกวัตติลกราชาธิราช (พระเจ้าติโลกราช) รัชกาลที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์มังราย ระหว่าง พ.๑๙๘๕-๒๐๓๐ แต่ในคำนำภาษาพม่าของโรงพิมพ์ภอนวาจา กล่าวว่า แต่งขึ้นตามคำอาราธนาของพระเจ้าสามฝั่งแกน ใน พ..๑๙๔๙  เมื่อตรวจสอบประวัติศาสตร์ของล้านนาพบข้อความว่า พระเจ้าสามฝั่งแกนครองราชย์เป็นเวลา ๓๘ ปี ระหว่าง พ..๑๙๔๕-๑๙๘๔ ครั้งหนึ่ง พวกจีนฮ่อยกทัพมาล้อมเมืองเชียงแสนไว้ เพราะล้านนาไม่ส่งส่วยให้นับตั้งแต่สมัยของพระเจ้ากือนา พระองค์จึงรบกับจีนฮ่อเป็นเวลา ๒ ปีใน พ..๑๙๔๗-๔๘ โดยเกณฑ์ทัพจากเชียงใหม่ เชียงแสน ฝาง เชียงราย เชียงของ และพะเยา นับเป็นการรบครั้งใหญ่ กองทัพจีนฮ่อเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถูกกองทัพล้านนาขับไล่ไปจนสุดดินแดนสิบสองปันนา นอกจากนั้น ในรัชสมัยของพระองค์มีพระสงฆ์ล้านนากลุ่มหนึ่งจำนวน ๒๕ รูป นำโดยพระมหาธัมมคัมภีร์ พระมหาเมธังกร พระมหาญาณมงคล พระมหาสีลวงศ์ พระมหาสารีบุตร พระมหารัตนากร และพระพุทธสาคร เป็นต้น ได้เดินทางไปสู่สำนักพระมหาสวามีวนรัตน์ ที่ลังกาทวีป เพื่อเรียนอักขระบาลี การอ่านออกเสียง การสวดตามอักขระบาลีในลังกาทวีป และขออุปสมบทใหม่ในเรือขนานที่ท่าเรือยาปาในแม่น้ำกัลยาณี พ..๑๙๖๘ มีข้อสังเกตว่าการรบกับพวกจีนฮ่อเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน ไม่ปรากฏในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช แม้คัมภีร์ศาสนวงศ์ที่แปลโดยศาสตราจารย์ ร... แสง มนวิทูร (ฉบับบาลี หน้า ๖๔ ฉบับไทย หน้า ๘๓) ก็กล่าวถึงการสาธยายคัมภีร์นี้แล้วทำให้พวกจีนฮ่อปราชัยว่า อุปฺปาตสนฺตึ อญฺญตโร เถโร. ตํ กิร อุปฺปาตสนฺตึ สชฺฌายิตฺวา จีนรญฺโญ เสนํ อชินีติ (พระเถระไม่ปรากฏชื่อองค์หนึ่งทำปกรณ์ชื่อ อุปปาตสันติ นัยว่าสวดอุปปาตสันตินั้นแล้ว ชนะพวกทหารจีน) นอกจากนั้น ชื่อพระมหาสีลวงศ์  ก็ปรากฏอยู่ในพระสงฆ์ล้านนาที่เดินทางสืบพระศาสนาในลังกา ดังนั้น จึงมีข้อสรุปว่าคัมภีร์นี้แต่งโดยพระสีลวังสเถระ ในรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน
                 นับว่าเป็นการนำคัมภีร์โบราณของล้านนาไทยกลับคืนมาสู่เมืองไทย  ให้ชาวไทยในยุคปัจจุบันได้รู้จัก  ได้ศึกษา  ได้สวด ได้ฟัง  ให้เกิดประโยชน์ทางสันติ  เพื่อความสงบระงับภัยพิบัติทั้งปวง  และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวล้านนา  ชาวไทย  ตลอดจนชาวโลกทั้งมวล





อานุภาพของอุปปาตะสันติ   :  ผู้ใดสวดหรือฟังอุปปาตะสันติ อันกล่าวแล้วด้วยประการฉะนี้ บุคคลนั้นจะพึงชนะจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง  จะเจริญด้วยคุณ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ความวิบัติย่อมไม่มาแผ้วพาน  ย่อมได้รับความอิ่มใจในกาลทุกเมื่อ ยาพิษและศาสตราวุธย่อมไม่มากล้ำกราย ย่อมชนะข้าศึกทั้งมวล  โรคาพยาธิย่อมไม่เบียดเบียน ย่อมเจริญด้วยทรัพย์ศฤงคาร ภัยจากมนุษย์ อมนุษย์  และสัตว์ร้ายน้อยใหญ่ย่อมสงบไปด้วยเสียงแห่งการสวดอุปปาตะสันติ
ผู้ที่สวดอุปปาตะสันติแล้วอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปก็ดี ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ดี จะช่วยให้เขาเหล่านั้นพ้นจากมหันตทุกข์  ย่อมเข้าถึงสุขในกาลทุกเมื่อ ทวยเทพเทวดาทั้งหลาย  ท้าวพระยามหากษัตริย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้เจริญด้วยเดชและสิริมงคล  ด้วยกฤตยานุภาพแห่งพระคาถาอุปปาตะสันติ  เหตุร้ายอันเกิดจากภัยธรรมชาติมีแผ่นดินไหวและน้ำท่วมเป็นต้น เหตุร้ายอันเกิดจากฟากฟ้า  เหตุร้ายอันเกิดจากสุริยุปราคา จันทรุปราคา เหตุร้ายอันเกิดจากบาปกรรม เหตุร้ายทั้งปวงจักพินาศไปด้วยเดชแห่งอุปปาตะสันติ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือที่ระลึก งานสวดมหาสันติงหลวง (อุปปาตะสันติ) 
                              มหากุศล เฉลิมพระเกียรติถวายพระราชกุศล แด่ 
                              สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร 
                              เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ  
                              (๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕)
                            :  หนังสือบทสวดอุปปาตสันติ (มหาสันติงหลวง) วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง




2 ความคิดเห็น: